วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โรคพิษตะกั่ว (Lead Poisoning)

โรคพิษตะกั่ว (Lead Poisoning)
          ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ และมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย ผลจากการพัฒนานี้ทำให้มีการปนเปื้อนและสะสมของสารพิษ ทั้งในสิ่งแวดล้อมและในสิ่งมีชีวิต
          
ตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ผลิตและใช้มา ตั้งแต่๖,๐๐๐ ปีก่อน ในแถบ Asia Minor และพิษจากสารตะกั่วเป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่ชาวกรีกและโรมัน ฮิปโปคราเตส (Hippocrates, ๓๗๐ ปีก่อนคริสตกาล) ได้บรรยายถึงอาการปวดท้องอย่างรุนแรงในคนงานสกัดโลหะตะกั่ว ซึ่งเป็นอาการปวดเกร็งของพิษตะกั่ว สำหรับประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์ของโรคพิษตะกั่วครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๕ และมีรายงานผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วมาตลอด โดยมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้น
คุณสมบัติโดยทั่วไปของสารตะกั่ว
          ตะกั่วเป็นโลหะหนัก มีเลขอะตอมิก ๘๒โดยเป็นธาตุที่ ๕ ของหมู่ ๔A ในตารางธาตุ น้ำหนักอะตอมเท่ากับ ๒๐๗.๑๙ จุดหลอมเหลว๓๒๗.๕ องศาเซลเซียส จุดเดือด ๑,๗๔๐ องศาเซลเซียส ความถ่วงจำเพาะ ๑๑.๓๔ วาเลนซี (Valency) ๐, +๒ และ +๔ ตะกั่วในธรรมชาติอยู่ในรูปของแร่กาลีนา คีรูไซต์ และแอนกลีไซต์
         
ตะกั่วบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นของแข็ง สีเทาปนขาว สามารถแปรรูปได้โดยการทุบ รีด หล่อหลอมได้ง่าย สามารถผสมเข้ากับโลหะต่างๆ ได้ดี รวมทั้งการทำปฏิกิริยาเกิดเป็นเกลือของตะกั่วต่างๆ
การใช้ตะกั่วในวงการอุตสาหกรรม
          แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
          ๑. สารประกอบอนินทรีย์ตะกั่ว เช่น
                    ๑.๑ โลหะตะกั่วใช้ผสมในแท่งโลหะผสมหรือผงเชื่อมบัดกรีโลหะนำมาทำเป็นแผ่น หรือท่อโลหะใช้ในอุตสาหกรรมเคมีเพื่อป้องกันการกัดกร่อน  แผ่นกรองในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำลูกปืนฉากกั้นสารกัมมันตรังสี
                    ๑.๒ ออกไซด์ของตะกั่ว ได้แก่
                    - ตะกั่วมอนอกไซด์ (Lead monoxide)ใช้ในอุตสาหกรรมสีโดยใช้เป็นสารสีเหลืองผสมสีทาบ้าน
                    - ตะกั่วไดออกไซด์ (Lead dioxide) ใช้ทำเป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่รถยนต์ และเครื่องจักร
                    - ตะกั่วออกไซด์ หรือตะกั่วแดง (Leadred oxide) ใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ สีทาโลหะเพื่อกันสนิม เครื่องแก้ว ยาง และเครื่องเคลือบ
                    ๑.๓ สารประกอบของเกลือตะกั่ว คุณสมบัติ
มีสีต่างๆ กัน จึงนิยมใช้เป็นแม่สี หรือสีผสมในอุตสาหกรรมสี เช่น
                    - ตะกั่วเหลือง (Lead cromate) ตะกั่วขาว(Lead carbonate)
                    - ตะกั่วซัลเฟต (Lead sulfate) ใช้ในอุตสาหกรรมสีและหมึกพิมพ์
                    - ตะกั่วแอซิเตต (Lead acetate) ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ครีมใส่ผม
                    - ตะกั่วซิลิเกต (Lead silicate) ใช้ในอุตสาหกรรมกระเบื้อง  และเครื่องเคลือบเซรามิกเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีผิวเรียบ เงางาม
                    - ตะกั่วไนเทรต (Lead nitrate) ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก  และยาง
                    - ตะกั่วอาร์ซิเนต (Lead arsenate) ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
          ๒. สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่ว ได้แก่
                    - เททระเอทิลเบด (Tetraethyl lead) และเททระเมทิลเลด (Tetramethyl lead) โดยใช้เป็น"สารกันน็อก" หรือสารป้องกันการกระตุกของเครื่องยนต์เวลาทำงาน โดยใช้ผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อให้เชื้อเพลิงมีค่าออกเทนสูงขึ้น สารนี้มีสีแดงดังนั้นน้ำมันชนิดพิเศษทั้งหลายจึงมีสีแดง สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่วค่อนข้างจะเป็นพิษมากกว่าตะกั่วอนินทรีย์ เนื่องจากสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ดี สำหรับตะกั่วที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์จะอยู่ในรูปของตะกั่วออกไซด์ชนิด ต่างๆ ซึ่งจะเป็นตะกั่วอนินทรีย์ ปัจจุบันไม่ใช้ผสมในน้ำมันเบนซินแล้ว

การดูดซึมของตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย
         ตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ๓ ทาง คือ
         ๑. การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร แหล่งสำคัญ คือ การปนเปื้อนของตะกั่วในอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม ยาสมุนไพรแผนโบราณและภาชนะเครื่องใช้ที่มีตะกั่วปนเปื้อน พบว่าร้อยละ ๗๐-๘๕ ของตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกายคนปกติได้จากอาหาร  โดยเฉลี่ยผู้ใหญ่สามารถดูดซึมตะกั่วจากอาหารได้ประมาณร้อยละ ๑๐ ของปริมาณตะกั่วในอาหารและเด็กสามารถดูดซึมได้มากถึงร้อยละ ๔๐-๕๐ ของปริมาณตะกั่วในอาหารตะกั่วที่เข้าไปกับอาหารจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น จากลำไส้เล็กจะเข้าสู่ตับโดยผ่านทางเส้นเลือดดำใหญ่เข้าสู่กระแสเลือดการดูด ซึมตะกั่วในทางเดินอาหารนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ และภาวะโภชนาการโดยในภาวะที่ท้องว่างหรือได้รับอาหารที่ขาดธาตุแคลเซียม เหล็ก และทองแดง  หรือมีสารฟอสเฟตต่ำจะทำให้ตะกั่วถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
         ๒. การดูดซึมจากระบบทางเดินหายใจ การหายใจเอาควัน หรือฟูมของตะกั่วที่หลอมเหลวเข้าไป เช่น จากการหลอมตะกั่ว หรือเชื่อมโลหะ ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ร่างกายอันดับแรกของผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสตะกั่ว เช่น คนงานในโรงงานหลอมตะกั่ว แบตเตอรี่  โรงงานผลิตสีฯลฯ ตะกั่วสามารถดูดซึมผ่านถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้  โดยการดูดซึมจะเร็วมาก แต่ถ้าหายใจเอาอนุภาคของตะกั่วที่มีขนาดเล็กกว่า ๐.๗๕ไมครอน เข้าไป เช่น จากสีเก่าที่หลุดออกมา การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะช้ากว่า โดยทั่วไปร้อยละ๓๕-๕๐ ของตะกั่ว จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดโดยวิธี ฟาโกไซโตซิส (Phagocytosis : คือ กระบวนการทำลายสิ่งแปลกปลอมโดยเม็ดเลือดขาว) อาการที่เกิดขึ้นมักจะรวดเร็วและรุนแรง การหายใจเอาอากาศที่มีไอหรืออนุภาคตะกั่วปริมาณ ๑ ไมครอนต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ  จะเพิ่มปริมาณตะกั่วในเลือดได้ ๑-๒ มิลลิกรัมต่อปริมาณเลือด ๑๐๐มิลลิเมตร ได้มีการกำหนดความเข้มของตะกั่วที่ให้มีได้ในอากาศโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อร่างกาย คือ ในบริเวณทำงานไม่ควรเกิน ๐.๒มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศ สำหรับผู้ที่ทำงาน ๘ ชั่วโมงต่อวัน หรือ ๔๐-๔๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์  นอกจากนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงๆ ในอากาศ จะช่วยให้การดูดซึมของตะกั่วในปอดเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น
         ๓. การดูดซึมทางผิวหนัง เกิดเฉพาะตะกั่วอินทรีย์เท่านั้น ผู้ที่มีโอกาสได้รับตะกั่วทางผิวหนัง ได้แก่ คนงานที่ทำงานในปั๊มน้ำมัน ช่างซ่อมเครื่องยนต์ เนื่องจากในอุตสาหกรรมน้ำมันมีการเติม เททระเอทิลเบด(Tetraethyl lead) หรือเททระเมททิลเลด(Tetramethyl lead) ผสมในน้ำมันเบนซิน ดังนั้นเมื่อคนงานถูกน้ำมันหกรดผิวหนัง หรือใช้น้ำมันเบนซินล้างมือ เททระเอทิลสามารถละลายชั้นไขมันของผิวหนังได้ ตะกั่วจึงสามารถซึมผ่านผิวหนังและเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายไปสู่ ตับ และจะเปลี่ยนเป็นไทรเอทิลเลด (Triethyllead) ได้ช้ามาก โดยมีค่าครึ่งชีวิตเท่ากับ ๒๐๐-๓๕๐วัน ตะกั่วจึงสามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน
การกระจายของตะกั่วในร่างกาย

          หลังจากตะกั่วดูดซึมจากลำไส้แล้ว ตะกั่วจะเข้าสู่ตับโดยผ่านทางเส้นเลือดดำ บางส่วนจะถูกขับออกทางน้ำดีและอุจจาระ ถ้าหากตะกั่วเข้าไปในปอดจะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงได้เลยกระแสเลือดจะพา ตะกั่วไปทั่วร่างกาย โดยใช้เวลาประมาณ ๑๔ วินาที ตะกั่วที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายระยะแรกจะอยู่ในสภาวะเลดไดฟอสเฟต (leaddiphosphate) ซึ่งจะกระจายไปอยู่ที่เส้นผมและตามเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue) เช่น สมอง ปอด ม้าม ตับ และไต จากนั้นบางส่วนจะถูกส่งไปสะสมที่กระดูกยาวในสภาวะเลดไทรฟอสเฟตโดยร้อยละ ๓๐ ของตะกั่วในร่างกายจะเก็บไว้ที่เนื้อเยื่ออ่อน และร้อยละ ๗๐ จะเก็บไว้ที่กระดูกยาวระดับตะกั่วในกระดูกค่อนข้างคงที่ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตะกั่วถูกปล่อยออกจากกระดูก คือสภาวะที่ร่างกายมีภาวะเครียดเกิดขึ้นเช่น มีไข้ภาวะความเป็นกรด-ด่าง ของร่างกายผิดปกติการลดระดับแคลเซียมในร่างกาย หรือลดระดับแคลเซียมในเลือด ตะกั่วจะกลับออกจากกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด และไปอยู่ที่เนื้อเยื่ออ่อนดังกล่าวมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยซึ่งเดิมไม่มีอาการจะเกิดอาการโรคพิษตะกั่วเฉียบพลันได้
การสะสมของตะกั่วในร่างกาย
          ๑. ในกระแสเลือด โดยกว่าร้อยละ ๙๐ จะรวมตัวกับเม็ดเลือดแดง และส่วนที่เหลือจะอยู่ในน้ำเลือด ค่าครึ่งชีวิตของตะกั่วในเลือดประมาณ๒-๔ สัปดาห์
          ๒. ในเนื้อเยื่ออ่อน ที่สำคัญ คือ ตับ และไตมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ ๔ สัปดาห์
          ๓. ในกระดูก โดยร้อยละ ๙๐ ของตะกั่วที่สะสมอยู่ในร่างกายจะอยู่ในกระดูก ซึ่งอยู่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ ๑๖-๒๐ปียกเว้นในเด็ก ซึ่งประมาณร้อยละ ๗๐ เท่านั้นที่สะสมอยู่ในกระดูก

การขับถ่ายตะกั่วออกจากร่างกาย
          ร่างกายคนเราสามารถขับตะกั่วออกได้เต็มที่ประมาณ๒ มิลลิกรัมต่อวัน โดยขับออกทางปัสสาวะร้อยละ  ๗๕-๘๐ โดยผ่านกระบวนการกรองของไตนอกจากนี้ถูกขับออกทางเหงื่อ น้ำดี น้ำนม และขับออกทางอุจจาระ ประมาณร้อยละ ๑๕
กลุ่มผู้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษตะกั่ว
          กลุ่มผู้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษตะกั่ว ได้แก่

          ๑. คนงานที่ประกอบอาชีพสัมผัสสารตะกั่ว ได้แก่
          ๑. คนงานทำเหมืองตะกั่ว
          ๒. คนงานโรงงานถลุงแร่ตะกั่ว
          ๓. คนงานโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์
          ๔. คนงานโรงงานผลิตแบตเตอรี่
          ๕. คนงานโรงงานผลิตสี
          ๖. คนงานโรงงานชุบโลหะ
          ๗. คนงานโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผา/เซรามิก
          ๘. คนงานโรงงานทำเครื่องประดับโลหะ
          ๙. คนงานโรงงานทำลูกปืน
          ๑๐. คนงานบัดกรีตะกั่ว
          ๑๑. คนงานเรียงพิมพ์ และหล่อตัวพิมพ์
          ๑๒. คนงานโรงงานผลิตและบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช
          ๑๓. คนงานทา หรือพ่นสีกันสนิม และสีทาบ้าน
          ๑๔. คนงานโรงงานผลิตแก้ว
          ๑๕. คนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำมันเบนซินที่ผสมสารตะกั่ว (ตะกั่วอินทรีย์) เช่น เด็กสถานีบริการน้ำมัน ช่างซ่อมเครื่องยนต์
          ๑๖. อาชีพอื่นๆ เช่น ตำรวจจราจร ฯลฯ

          ๒. บุคคลทั่วไป ได้แก่บุคคลที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณโรงงานหลอมตะกั่ว หรือใกล้โรงงานที่มีการใช้สารตะกั่ว บุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น หรืออยู่ใกล้ถนน  และผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องติดอยู่ในการจราจรที่แน่นขนัด

          ๓. เด็ก เนื่องจากพฤติกรรมของ เด็กที่ชอบหยิบสิ่งของใส่ปาก ซึ่งบางครั้งของที่หยิบใส่ปากนั้นมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ เช่น ของเล่นที่มีคุณภาพต่ำจะมีสารตะกั่วปนเปื้อน

          ๔. บุคคลในครอบครัวของคนงานที่ประกอบอาชีพสัมผัสตะกั่ว เนื่องจากฝุ่นตะกั่วสามารถติดอยู่ตามเสื้อผ้าผิวหนัง และผมของคนงาน  ทำให้ตะกั่วสามารถติดจากที่ทำงานไปสู่บ้านได้

          ๕. ทารกและเด็กที่ดื่มนมแม่ เนื่อง จากในหญิงมีครรภ์ ตะกั่วสามารถซึมผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้  โดยระดับตะกั่วในสายสะดือมีค่าเท่ากับระดับตะกั่วในเลือดของมารดาและหญิงให้ นมบุตรที่มีระดับตะกั่วในร่างกายสูงตะกั่วสามารถผ่านทางน้ำนมสู่ทารกที่ดื่ม นมแม่ได้

พิษของตะกั่วต่อร่างกาย
พิษตะกั่วในผู้ใหญ่          เมื่อตะกั่วเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีใดก็ตามหากมีการสะสมจนถึงระดับอันตรายก็จะแสดงอาการให้เห็น ดังนี้
          ๑. อาการทางระบบทางเดินอาการ พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยเริ่มจากมีอาการเบื่ออาหารคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก บางรายมีอาการท้องเสียอาการที่สำคัญคือ ปวดท้องอย่างรุนแรงมาก ที่เรียกว่า "โคลิก" เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลผู้ป่วยอาจปวดท้องจนดิ้นตัวงอ อาการปวดท้องนี้อาจทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคผิดว่าเป็นอาการปวดท้องเนื่องจาก สาเหตุทางศัลยกรรมได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบนอกจากนี้การดื่มสุรา หรือภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกั่วจากที่เก็บสะสมไว้ออกมาใน เลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมากขึ้น นอกจากนี้อาจตรวจพบแนวเส้นตะกั่วบริเวณเหงือก (lead line) มีลักษณะเป็นเส้นสีน้ำเงิน-ดำ จับอยู่ที่ขอบเหงือกต่อกับฟันห่างจากฟันประมาณ ๑ มิลลิเมตร พบบ่อยบริเวณฟันหน้ากราม และฟันกราม
          ๒. อาการทางระบบประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและขาบางครั้งมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ และข้อต่อต่างๆ
ถ้า ร่างกายได้รับตะกั่วปริมาณมากๆ เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อกลุ่มที่ทำหน้าที่เหยียด เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดข้อมืออ่อนแรง ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ข้อมือตก หรือข้อเท้าตก การเป็นอัมพาตมักจะไม่ทำให้ประสาทความรู้สึกเสียส่วนมากมักจะเป็นเฉพาะกล้าม เนื้อข้างใดข้างหนึ่งของแขนหรือขาเท่านั้น และมักจะมีอาการข้างที่ถนัดก่อน
          ๓. อาการทางสมอง เป็นอาการแสดงที่พบว่ารุนแรงที่สุด มักพบในเด็กที่ได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายในปริมาณค่อนข้างสูง เช่น กินตะกั่วอนินทรีย์ หรือสูดเอาไอและละอองฝุ่นตะกั่วเข้าไปมาก สำหรับผู้ใหญ่พบได้น้อย โดยมากเกิดจากตะกั่วอินทรีย์ เช่น คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน มักมีอาการเริ่มต้นจากตื่นเต้น นอนไม่หลับ ฝันร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว ปฏิกิริยาสะท้อนไวกว่าปกติ สติคุ้มดีคุ้มร้าย ในที่สุดอาจชัก หมดสติ และถึงแก่กรรมได้
          ๔. อาการทางโลหิต ผู้ป่วยมักจะมีอาการซีดเลือดจาง อ่อนเพลีย นอกจากอาการดังกล่าวแล้วผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ มึนงง ในรายที่เป็นเรื้อรัง พบว่ามีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ได้ด้วย

พิษตะกั่วในเด็ก

          ๑. ระบบประสาท โดยตะกั่วจะทำลายทั้งระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย ยิ่งอายุน้อยระบบประสาทยิ่งถูกทำลายมาก ดังนั้นในเด็กเล็กจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งนอกจากนี้ระดับตะกั่วในเลือด ๓๕ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อาจมีอาการผิดปกติทางจิตประสาทได้ด้วย
          ๒. ระบบทางเดินปัสสาวะ ตะกั่วทำลายไตโดยตรง ทำให้เกิดการฝ่อลีบของบริเวณที่กรองปัสสาวะ
         
๓. ระบบเลือด นอกจากจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายแล้ว ตะกั่วยังขัดขวางการสร้างฮีมทำให้มีอาการซีด โลหิตจางได้
          ๔. พิษต่อหัวใจ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
          ๕. ระบบทางเดินอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อเรียบมีการเกร็ง เกิดอาการปวดท้องมาก
          ๖. นอกจากนี้ระดับตะกั่วในเลือด ตั้งแต่ ๒๕ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมอายุ

อาการโรคพิษตะกั่ว
           อาการโรคพิษตะกั่ว แบ่งได้เป็นระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง
           ๑. พิษตะกั่วเฉียบพลัน อาการสำคัญที่พบ คือ อาการของโรคเนื้อสมองเสื่อมเฉียบพลันมักเกิดเมื่อระดับตะกั่วในเลือดสูงเกิน ๑๒๐ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร และมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า๓ ปี อาการอาจเริ่มด้วยชักและหมดสติ หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น เบื่ออาหาร ซีด กระวนกระวาย ซึม เล่นน้อยลง  กระสับกระส่าย เสียกิริยาประสานงาน อาเจียน มีอาการทักษะเสื่อมถอย โดยเฉพาะการพูด อาการจะมากขึ้นเรื่อยๆ ใน ๓-๖ สัปดาห์จากนั้นจึงมีอาการของโรคสมองเสื่อมตามมาใน ๒-๕วัน เริ่มด้วยอาการเดินเซ อาเจียนมาก ซึม หมดสติและชักที่ควบคุมลำบาก แต่จะไม่พบอาการปลายประสาทเสื่อม
           ๒. พิษตะกั่วเรื้อรัง อาการแสดงทางคลินิกที่พบในระบบต่างๆ มีดังนี้
                      ๒.๑ ระบบประสาทส่วนกลาง และประสาทสมอง อาการสำคัญที่พบ คือ สมองเสื่อมจากพิษตะกั่ว พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มีอาการหงุดหงิดง่าย  กระวนกระวาย ซึม เวียนศีรษะ เดินเซหกล้มง่าย นอนไม่หลับ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงความจำเสื่อม  ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการสั่นเวลาเคลื่อนไหว ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ซึ่ง
โรคพิษตะกั่วในเด็ก      เป็นผลจากตะกั่วเข้าไปทำลายเซลล์ประสาททำให้เนื้อเยื่อสมองเกิดอาการบวม มีน้ำและสารต่างๆ ในเซลล์เพิ่มขึ้น เมื่อสมองถูกกดมากๆทำให้เนื้อสมองถูกทำลาย ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางมีอัตราตายประมาณร้อยละ๒๕ สำหรับผู้ที่รอดชีวิต ภายหลังการรักษาจะพบว่ามีความผิดปกติตามมาได้ ส่วนอาการทางประสาทสมอง พบว่าประสาทตาฝ่อและมีความผิดปกติในการทำงานของกล่องเสียง
                      ๒.๒ ระบบประสาทส่วนปลายและกล้ามเนื้อ พบมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ กล้ามเนื้อที่ใช้บ่อยมีอาการอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาต เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดข้อมือ ข้อเท้า อ่อนแรง ทำให้เกิดอาการข้อมือตก ข้อเท้าตกอาจเป็นข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ อาการของระบบประสาทส่วนปลายพบมีอาการชา  ปลายประสาทอักเสบ
                      ๒.๓ ระบบทางเดินอาหาร เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน โดยเริ่มแรกมักมีอาการท้องผูก แต่บางรายอาจมีอาการท้องเดิน น้ำหนักลด รู้สึกลิ้นรับรสของโลหะ เมื่อภาวะเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องบีบเกร็ง และกดเจ็บ ทำให้มีอาการปวดท้องมาก เรียกว่า "โคลิก" นอกจากนี้อาจตรวจพบเส้นสีน้ำเงิน-ดำที่เหงือก ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรเจนซัลไฟด์ของแบคทีเรียในช่องปากกับตะกั่ว โดยอาจพบได้ถึงร้อยละ ๘๐ ของผู้ป่วยที่ได้รับตะกั่วสะสมมาเป็นเวลานานๆ
                      ๒.๔ ระบบโลหิต มักพบมีอาการซีดโดยทั่วๆ ไปจะมีลักษณะซีดจากการขาดธาตุเหล็กเนื่องจากตะกั่วจะเข้าไปยับยั้งกระบวน การสังเคราะห์ฮีมในไขกระดูก โดยขัดขวางการใช้เหล็ก และการสร้างโกลบินในไขกระดูก นอกจากนี้ยังมีผลให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะต่างจากปกติมีจุดสีน้ำเงินกระจาย อยู่ภายใน (basophilic stippling) เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก และแตกง่าย อายุสั้นกว่าปกติความเป็นพิษต่อระบบโลหิตนี้มีผลต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
                      ๒.๕ ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่ได้รับตะกั่วเป็นเวลานานๆ อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังเนื่องจากตะกั่วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและ หน้าที่ของไต โดยทำให้เซลล์ที่บุส่วนต้นของท่อภายในไตเกิดสารประกอบของตะกั่วกับโปรตีน ซึ่งมีผลต่อกระบวนการสร้างพลังงานของไต โดยจะตรวจพบน้ำตาล  กรดอะมิโน และฟอสเฟตในปัสสาวะสูง รวมทั้งฟอสเฟตในเลือดต่ำเนื่องจาก
การ ดูดกลับลดลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง จากการที่ร่างกายดึงฟอสเฟตจากกระดูกมาใช้และในรายที่เป็นเรื้อรังไตจะมีขนาด เล็กลง เส้นเลือดแข็ง และผู้ป่วยอาจเสียชีวิต เนื่องจากภาวะไตวาย นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะกรดยูริกคั่งในร่างกาย เกิดอาการของโรคเกาต์ได้
                      ๒.๖ ระบบโครงสร้าง ตะกั่วจะไปสะสมที่กระดูก โดยเฉพาะที่ส่วนปลายของกระดูกยาวเมื่อเอกซเรย์ดูจะพบรอยหนาทึบของตะกั่ว ฟอสเฟตพบได้ในเด็ก ถ้าร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้ร่างกายดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ เป็นผลให้ตะกั่วกลับเข้าสู่กระแสเลือดด้วย
                      ๒.๗ ระบบสืบพันธุ์ ผู้ที่ได้รับตะกั่วติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจพบอาการเป็นหมันได้ทั้งชายและหญิง โดยเพศชายจะมีจำนวนเชื้ออสุจิน้อยอ่อนแอ และมีลักษณะผิดปกติ ส่วนใหญ่เพศหญิงจะมีความผิดปกติของประจำเดือน รังไข่ทำงานผิดปกติ และแท้งได้
                      ๒.๘ ระบบอื่นๆ ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของต่อมไทรอยด์ และต่อมหมวกไตได้นอกจากนี้ตะกั่วเป็นสารก่อมะเร็ง อาจทำให้เกิดมะเร็งที่ไต เนื้องอกที่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งเป็นสารก่อกลายพันธุ์ โดยทำให้เกิดความผิดปกติของดีเอ็นเอได้



Credit: นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา และ guru.sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น