วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ร้อนใน

ทฤษฎีของแพทย์แผนจีนนั้น อธิบายว่า ร้อนใน หมายถึง กลุ่มอาการที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆที่ทำให้ร่างกายไม่สมดุล
โดยความเป็น หยางมากกว่าอิน(ยิน,หยิน) หรือหยางแกร่ง ซึ่งมักจะเกิดบ่อยกับผู้ที่มีภาวะอินพร่อง(อิมฮือ:แต้จิ๋ว)
   ส่วนทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นไม่มีโรคร้อนใน

อาการใดบ้าง คือ อาการร้อนใน
   ร้อนในไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิ ร่างกายที่สูงขึ้น อาการตัวร้อนอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับร้อนในก็ได้ อาการร้อนใน มีผู้เข้าใจว่าเป็นเพียงอาการที่ในปากเป็นแผล(แซชือ:แต้จิ๋ว) ลักษณะเป็นวง ตรงกลางจะมีเยื่อสีขาวบางๆ ขอบจะบวมแดงและเจ็บที่แผลแบบปวดแสบปวดร้อน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของคำว่าร้อนใน
   อาการร้อนใน มีตั้งแต่ มีขี้ตามาก หรือตาแฉะ(ร้อนในที่ตับ) ตกหมอน(ร้อนในที่เกิดกับเส้นเอ็นข้างคอ) เป็นแผลร้อนในไม่ว่าจะขึ้นที่ลิ้น ด้านในริมฝีปาก ในลำคอ หรือ กระพุ้งแก้ม
ลิ้นแตก ลมหายใจร้อน ลมหายใจเหม็น(Halitosis) เหงือกบวม(ผู่คีเปา:แต้จิ๋ว) คอแห้ง ปากขม กระหายน้ำ(ดื่มน้ำเท่าไร ก็ไม่หาย) เจ็บคอหรือระคายเคืองคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ
บางครั้งมีเสมหะ ไอ มีเสมหะข้นเขียวๆเหลืองๆ ท้องผูก ถ่ายลำบาก อุจจาระสีคล้ำ แต่บางครั้งก็ถ่ายเหลวและมีลม เมื่อยตามเนื้อตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ตัวรุมๆ หรือถ้าเป็นหนักก็
เป็นไข้ขึ้นมา
   ถ้าเป็นทั้งเจ็บคอ เวียนศีรษะ ตัวร้อน มีน้ำมูก ปวดเมื่อยเนื้อตัว เรียก อาการหวัดร้อน นั่นก็คือไข้หวัดใหญ่ โดยเมื่อคนเราร้อนใน ก็จะทำให้ภูมิต้านทานลดลง
จึงทำให้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดได้ง่ายขึ้น เพราะเชื้อไวรัสหวัดก็มีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะสายพันธุ์เก่า สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ใหม่กว่า
สาเหตุที่จะทำให้เกิดอาการร้อนในเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับ
1.ร่างกายของแต่ละคนมี อิน-หยาง ต่างกัน (กรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนด) เช่น ถ้าคนมีลักษณะเป็นหยางมากกว่าอิน แล้วกินอาหารที่เป็นหยางเข้าไป ทำให้หยางในร่างกายเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดอาการร้อนใน
2.อาหาร ในทรรศนะของจีนก็แบ่งเป็นอินและหยาง โดยที่อาหาร ประเภทหยางมักจะมีรสเผ็ด รสที่ค่อนข้างจัดหรือว่าเข้มข้น หรืออาหารทอดทุกประเภท ถ้าเป็นพวกผลไม้ก็เช่น ลำไย เงาะ ทุเรียน ลิ้นจี่ หรือข้าวเหนียว ถือว่าเป็นหยางหมด ส่วนอาหาร ประเภทอิน ก็คืออาหารชนิดที่กินเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกชุ่มคอ รู้สึกสบาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น พวกผักชนิดต่างๆ
3.อากาศ หมายถึง ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปมักจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดอินกับหยางในลักษณะที่ต่างกัน เช่น ฤดูร้อน ความเป็นหยางจะสูง เพราะอากาศร้อน ถ้าหากร่างกายเป็นหยาง กินอาหารหยาง แล้วก็มาเจอหน้าร้อนเป็นหยางเข้า ก็จะทำให้เกิดอาการร้อนใน
ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า พออากาศเปลี่ยน บางคนก็จะไม่สบาย หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ นั่นก็เพราะอยู่ที่พื้นฐานของร่างกายแต่ละคนและพฤติกรรม
4.การอดนอน หรือนอนดึก พักผ่อนน้อย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการร้อนในเรื้อรัง เพราะทฤษฎีแพทย์แผนจีนจะจัดช่วงเวลากลางวันเป็นหยาง เวลากลางคืนเป็นอิน
เมื่ออดนอน หรือนอนดึก ก็ทำให้ขาดการรับพลังอิน จึงทำให้หยางกำเริบและเกิดเป็นร้อนในเรื้อรังได้

วิธีป้องกันไม่ให้ร้อนในเรื้อรัง
   วิธีจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนใน ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม นั่นคือ จะต้องรู้ร่างกายของตัวเองก่อนว่าเป็นอินหรือเป็นหยางมากกว่ากัน ตอนนี้อากาศ เป็นอย่างไร จะกินอาหารอะไร จึงจะสอดคล้องกัน คือพยายามปรับสมดุลให้ได้ อาการร้อนใน ก็จะไม่เกิดขึ้น

สำหรับคนที่มีอาการร้อนในไม่มาก
วิธีแก้ไขคือ การกินอาหารบางอย่างเข้าไปก็ช่วยได้ อย่างพวก มะระ ฟักเขียว ผักต่างๆ ซึ่งอาจจะนำมาต้ม เป็นน้ำแกง โดยใส่เนื้อต่างๆ ลงไปด้วย หรือจะลวกกินก็ได้
เมื่อรู้หลักการหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้ว ก็สามารถจะกินอาหารได้โดยไม่มีปัญหา

ตัวอย่างอาหารที่มีลักษณะเป็นอิน
สาลี่ มังคุด ปู เป็ด ห่าน กล้วย ถั่วเขียว เต้าหู้ แตงกวา ส้ม ฟักทอง เกลือ ผักโขม อ้อย ส้มจีน แตงโม มะเขือเทศ คึ่นฉ่าย น้ำมะพร้าว องุ่น มะกอก สับปะรด ผักกาดหอม ลูกพลับ
เม็ดแมงลัก ฟัก

ตัวอย่างอาหารที่มีลักษณะเป็นหยาง
ของทอด ทุเรียน ลำไย ขนุน ลิ้นจี่ เงาะ ลองกอง ลังสาด อบเชย ดีปลี ละมุด พริก กระเทียม ขิง หอม พริกไทย ใบโหระพา ใบแมงลัก เนื้อมะพร้าว เนื้อวัว หมู ไก่ แพะ สุนัข งู ข้าวเหนียว
แต่ถ้าคนที่เป็นร้อนในเรื้อรัง ร้อนในบ่อย หรือมีอาการหนัก จะต้องรักษาด้วยการให้ยาบำรุงอิน(อิมโป้ว:แต้จิ๋ว) จึงจะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ แต่ต้องใช้เวลา เพื่อค่อยๆเสริมอิน
เมื่อร่างกายได้สมดุล อาการที่ร้อนในบ่อย หรือร้อนในเรื้อรังก็จะลดน้อยลง
ห้ามรับประทานยาบำรุง เพราะยาบำรุงทั่วไปมักจะบำรุงหยาง ซึ่งไม่เหมาะกับคนที่อินพร่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น